วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2556


กะหล่ำดอก

กะหล่ำดอก
         กะหล่ำดอกเป็นพืชผักที่ปลูกได้ดีในเขตอากาศอบอุ่น ในประเทศไทยจึงปลูกได้ดีในที่ที่มีอากาศค่อนข้างเย็น
หรือในช่วงฤดูหนาว คือช่วงประมาณเดือนตุลาคม-มกราคม แต่ถ้าเกษตรกรสามารถปลูกนอกฤดูได้
ก็จะสามารถขายได้ราคาดี โดยมากมีปลูกนอกฤดูในแถบที่อากาศเย็นทางภาคเหนือ ในภาคอื่นๆ
ก็อาจจะปลูกได้ โดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ซึ่งควรจะคิดถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้วยว่าจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าหรือไม่


พันธุ์
ของกะหล่ำดอกแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ

    1. พันธุ์เบา เป็นพันธุ์ที่มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 60-75 ในบ้านเรานิยมปลูกพันธุ์ประเภทนี้
    2. พันธุ์กลาง มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 80-90 วัน
    3. พันธุ์หนัก มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 90-150 วัน


การเตรียมดิน

          กะหล่ำดอกชอบดินที่มีค่าพีเอชประมาณ 6-6.8 ในการเตรียมดินเตรียม เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ใช้เพาะกล้า
ขุดลึกประมาณ 15 เซนติเมตร หลังจากขุดพลิกดินลึก 20 เซนติเมตร หลังจากขุดพลิกแล้วตากดินประมาณ
7-10 วัน เก็บวัชพืชให้หมด พรวนดินให้ก้อนเล็ก ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ที่ย่อยสลายดีแล้วลงไปคลุกเคล้า
ให้เข้ากันปรับหน้าแปลงให้สม่ำเสมอกัน


การเพาะกล้า
          เพื่อจะได้ประหยัดเมล็ดพันธุ์ ประหยัดปุ๋ย และเวลาในการดูแลในช่วงที่อยู่ในระยะต้นกล้า
แปลงขนาด 5-10 ตารางเมตร ใช้เมล็ดพันธุ์ ประมาณ 100-150 กรัม สำหรับแปลงปลูกขนาด 1 ไร่
และเนื่องจากกะหล่ำดอกชอบอากาศค่อยข้างเย็น เพราะฉะนั้นอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการงอก
ของเมล็ดจึงอยู่ที่ประมาณช่วง 7.2-29.4 องศาเซลเซียส


การปลูก
     
      หลังจากกล้ามีอายุได้ประมาณ 25-30 วัน ถอนย้ายปลูกในแปลงปลูกได้ การถอนกล้าที่จะปลูกอาจจะถอน
ไว้ในตอนเช้าก่อนแดดจัด แล้วนำมาปลูกให้หมดในวันนั้น ไม่ควรทิ้งไว้ข้ามคืน วิธีปลูกคือใช้นิ้วชี้ขุดดินตรงจุด
ที่จะปลูกเป็นรูปักต้นกล้าลงไป กดดินโคนต้นให้พออยู่ไม่ถึงกับแน่น ระยะปลูกระหว่างต้นห่าง 50 เซนติเมตร
ระหว่างแถวห่าง 60 เซนติเมตร หลังจากปลูกเสร็จแล้วเอาฟางคลุมบาง ๆ เพื่อให้ต้นกล้าตั้งตัวได้เร็วขึ้น
และช่วยเก็บรักษาความชื้นในดิน

          หลังจากปลูกแล้วเมื่อพบต้นกล้าตาย ให้สังเกตดูอาการด้วยว่าตายเพราะเชื้อโรคหรือเปล่า หากพบว่า
เป็นโรคเพราะเชื้อรา เมื่อถอนต้นไปทำลายทิ้งแล้ว ให้ใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อรารดลงและให้เพิ่มปูนขาวโรย
ในบริเวณนั้นหากตาย เพราะสาเหตุธรรมดาก็ปลูกกล้าใหม่ลงซ่อมในบริเวณนั้นได้


การให้น้ำ
          ในระยะตั้งตัวของระบบรากใหม่หลังการย้ายปลูก ไม่ต้องการใช้น้ำมาก เพียงให้ดินมีความชุ่มชื้น
สม่ำเสมออย่างเพียงพอก็พอ เพราะถ้าแฉะเกินไปจะทำให้ต้นผักเกิดโรคเน่าเละได้ง่าย การให้น้ำให้วันละ
2 เวลา เช้า-เย็น เมื่อผักโตขึ้นจะต้องการน้ำมากขึ้น เพราะมีการระเหยน้ำอย่างรวดเร็วช่วงที่เกิดดอกจะขาดน้ำไม่ได้
และต้องการน้ำมากขึ้น เพื่อให้การเจริญเติบโตของดอกเป็นไปอย่างสม่ำเสมอและได้ดอกที่สมบูรณ์


การปฏิบัติรักษา
          เพื่อให้ได้ดอกที่มีคุณภาพดีตรงตามความต้องการของตลาด ในช่วงเกิดดอกนอกจากจะต้องดูแลเรื่องแมลง ซึ่งจะรบกวนดอกกะหล่ำและทำความเสียหายให้มาก หากปล่อยไว้การทำลายแก่ดอกกะหล่ำได้ จึงควรมีการป้องกันและกำจัดโดยการใช้้กับดักกาวเหนียว การใช้กับดักแสงไฟ ดักจับผีเสื้อกลางคืนที่จะมาวางไข่ ฉีดพ่นสารชีวภาพไล่แมลงและหมั่นตรวจดูแลแปลงอยู่เสมอ เมื่อพบตัวหนอนควรรีบทำลายทันที
     เมื่อดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-7.5 เซนติเมตร ให้รวบปลายใบผูกเชือกไว้
หลวมๆ คลุมดอกไว้ ดอกจะขาว ถ้าปล่อยให้โดนแดดมาก ๆ ดอกจะออกเหลือง ซึ่งขายได้ราคา
ไม่ดี สำหรับพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะใบคลุมดอกเองโดยธรรมชาติ ก็ไม่จำเป็นต้องรวบใบมาผูกไว้


การใส่ปุ๋ย
          ปุ๋ยที่ใส่แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ในการใส่ปุ๋ยรองพื้นให้ใส่ก่อนปลูกต้นกล้า ในตอนเตรียมดิน เช่น ปุ๋ยขี้เป็ดผสมกากถั่วหรือปุ๋ยอินทรีย์ในอัตรา 300 กิโลกรัม ต่อ 1 ไร่ และใช้ปุ๋ยชีวภาพ หรือปุ๋ยน้ำอินทรีย์ โดยใช้อัตรา 30-50 ซีซี
(3-5ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 20 ลิตร) ฉีดพ่นทุกๆ 5-7 วัน (ฉีดช่วงเช้าจะดีที่สุด)
     
การเก็บเกี่ยว
         อายุของกะหล่ำดอก นับตั้งแต่วันย้ายปลูกจนถึงวันตัดขายได้ ประมาณ70-90 วัน โดยเลือกตัดดอกที่มีกลุ่มดอก
เกาะตัวกันแน่น โตขนาดประมาณ 10-16 เซนติเมตรดอกออกสีครีม ใช้มีดตัดต้นชิดโคนแล้วขนออกมาตัดแต่ง
ข้างนอกแปลง ตัดแต่งให้เหลือทั้งต้นและดอกยาวประมาณ 16-20 เซนติเมตร ตัดใบออกให้เหลือติดดอก
ประมาณ 2 ใบ เพื่อเอาไว้พันรอบดอก เป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับดอกในระหว่างการขนส่ง ผลผลิต
ในฤดูร้อนจะได้ประมาณ 1,300-1,500 ก.ก. / ไร่ แต่ถ้าในฤดูหนาวจะได้ผลผลิตถึง 2,000-3,000 ก.ก. / ไร่